วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การประเมินโครงการ

ความหมายของการประเมินโครงการ
                 การประเมินโครงการ   หมายถึงกระบวนการรวบรวมข้อมูล  ที่ได้จากการศึกษาหาข้อมูล
อย่างเป็นระบบแล้วนำผลการศึกษาหรือผลการประเมินมาตัดสินคุณค่าของการดำเนินการ  โดยอาศัย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินโครงการ  เพื่อให้ได้ข้อสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาตัดสินใจ
ในการเลือกแนวทางดำเนินการที่มีความเหมาะสมและสามารถนำมาพัฒนาโครงการอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี  
และการประเมินโครงการอาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การวิจัยโครงการ

ความสำคัญของการประเมินโครงการ
                   การประเมินโครงการช่วยทำให้กำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายและมาตรการตลอดทั้งวิธีการประเมิน
ได้รับการตรวจสอบ  วิเคราะห์อย่างละเอียดจากผู้บริหารและผู้ประเมินว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยใช้
ทรัพยากรที่กำหนดไว้อย่างคุ้มค่า  เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  นอกจากนี้
ทำให้ผู้บริหารทราบถึงอุปสรรคข้อดีข้อเสียความเป็นไปได้   และตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อหรือยุติโครงการ

กระบวนการประเมินโครงการ
              1.  วิเคราะห์โครงการที่จะประเมิน
                  2.  ระบุหลักการและเหตุผลของการประเมิน
                  3.  กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน
                  4.  กำหนดขอบเขตของการประเมิน
                  5.  ศึกษาแนวคิดและรูปแบบการประเมิน
                  6.  ออกแบบการประเมิน
                  7.  พัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมิน
                  8.  เก็บรวบรวมข้อมูล
                  9.  วิเคราะห์ข้อมูล
               10.  รายงานผลการประเมิน

รูปแบบของการประเมินโครงการ
                จากแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ นักประเมินหลายท่านได้พยายามเสนอรูปแบบการประเมินโครงการ
ไว้หลายลักษณะ  แต่ละรูปแบบมีแนวคิด  ทฤษฎี  และหลักเหตุผลของการพัฒนาโดยเฉพาะมีความเชื่อและ
ปรัชญาส่วนบุคคลที่แตกต่างกันไป ที่สำคัญคือรูปแบบแต่ละรูปแบบที่นำเสนอมีวัตถุประสงค์เฉพาะ
ของการใช้ในการประเมินที่แตกต่างกันนอกจากนั้นรูปแบบต่าง ๆ ล้วนมีจุดเด่นจุดด้อยและมีข้อจำกัด
ในการนำไปใช้ในที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้ว    การประเมินโครงการใด ๆ จึงไม่ควรจำกัด
ให้ใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงสภาวะแวดล้อมและวัตถุประสงค์ของการ
ประเมินโครงการ ตลอดจนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการใช้รูปแบบนั้น รวมทั้งอรรถประโยชน์
ที่จะได้จากการใช้รูปแบบนั้น ๆ เป็นส่วนสำคัญด้วย นักประเมินที่มีประสบการณ์จึงไม่ควรยึดติดรูปแบบใด
รูปแบบหนึ่ง แต่จะต้องรู้จักเลือกประยุกต์ใช้รูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
ของการประเมินสูงสุดในที่นี้จะนำเสนอรูปแบบดังนี้ 
                1.  รูปแบบการประเมินที่เน้นวัตถุประสงค์ (Objective – based  model) เป็นรูปแบบ
การประเมินที่ตรวจสอบว่าผลที่เกิดจากโครงการนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่  ได้แก่ 
รูปแบบการประเมินของไทเลอร์   รูปแบบการประเมินของครอนบาค  และรูปแบบการประเมิน
ของเคิร์กแพททริก
                2.  รูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินคุณค่า (judg  mental  evaluation  model) เป็นรูปแบบ
ที่มีจุดมุ่งหมาย   เพื่อรวบรวมสารสนเทศเพื่อกำหนดและวินิจฉัยคุณค่าของโครงการ ได้แก่ รูปแบบ
การประเมินของสเตค  รูปแบบการประเมินของสคริฟเวน  และรูปแบบการประเมินของโพรวัส
                3.  รูปแบบการประเมินเพื่อตัดสินใจ  เป็นรูปแบบการประเมินที่มุ่งผลิตสารสนเทศเพื่อช่วยผู้บริหาร
ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม  ได้แก่  รูปแบบการประเมินของสตัฟเพิลบีม  
รูปแบบการประเมินของอัลคิน

ประโยชน์ของการประเมินโครงการ             
             1. ช่วยอธิบายหรือกำหนดวัตถุประสงค์และมาตรฐานของงานได้ชัดเจนขึ้น
             2. ช่วยให้แผนงานในระดับสูงบรรลุวัตถุประสงค์
             3. เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากโครงการนั้น
             4. ช่วยให้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์เต็มที่
             5. ช่วยในการควบคุมคุณภาพของงาน
             6. ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานตามโครงการ

บรรณานุกรม   
             สมคิด  พรมจุ้ย (2552)เทคนิคการประเมินโครงการ  พิมพ์ครั้งที่ 6 นนทบุรี   จตุพรดีไซน์
             สำราญ  มีแจ้ง  (2544)การประเมินโครงการทางการศึกษา  กรุงเทพมหานคร 
                          นิชินแอเวอร์ไทวิ่งกรุ๊ฟ
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น